วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

ผลไม้ไทย

    ยอดโภชนาการผลไม้ไทย

    สุดยอดโภชนาการผลไม้ไทย



    สุดยอดโภชนาการผลไม้ไทย (Health&Cuisine)

              ใครที่มองหาสุดยอดผลไม้อยู่ล่ะก็ ไม่ต้องมองไปไกล ลองผลไม้ไทยนี่สิ คุณค่าทางโภชนาการเพียบ

    ผลไม้คลายร้อน

              ตามธรรมชาติของผลไม้ในบ้านเรา ส่วนประกอบหลักที่พบได้ในผลไม้แทบทุกชนิด คือ น้ำตาล ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลซูโครส กลูโคส หรือฟรุกโตส ดังนั้นผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน หรือต้องควบคุมระดับน้ำตาล ควรเลือกบริโภคผลไม้ที่มีความหวานน้อยจะดีต่อสุขภาพ หรือหากต้องการรับประทานผลไม้รสหวานจัด ขอแนะนำว่ารับประทานได้แค่พอหายอยากเท่านั้นค่ะ

              ผลไม้ที่มีน้ำตาลมาก ได้แก่ กล้วยหอม ขนุน เงาะโรงเรียน กล้วยน้ำว้า ลิ้นจี่จักรพรรดิ์ มังคุด สละ น้อยหน่าหนัง กล้วยไข่

              ผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น แตงโมจินตรา ทุเรียนหมอนทอง ลำไยกะโหลก ฝรั่ง มะเฟือง ทุเรียนชะนี

    ผลไม้รสเปรี้ยว vs วิตามินซี

              ผลไม้รสเปรี้ยว อีกหนึ่งกลุ่มผลไม้ที่เหมาะสำหรับหน้าร้อน มะม่วงเปรี้ยว ๆ จิ้มน้ำปลาหวาน คงพอให้วันร้อน ๆ แสนน่าเบื่อ กลายเป็นวันดี ๆ ขึ้นมาได้จริงไหมคะ

              โดยทั่วไป หากนึกถึงผลไม้รสเปรี้ยว คนส่วนใหญ่คงคิดเหมือนกันว่า สารอาหารที่ได้จากผลไม้เหล่านี้คงหนีไม่พ้น วิตามินซี แต่ในความเป็นจริง รสเปรี้ยวไม่ได้การันตีปริมาณวิตามินซีในผลไม้นั้น ๆ แต่อย่างใด

              ยกตัวอย่าง เช่น สับปะรดรสเปรี้ยว กับมะละกอรสหวาน ผลยืนยันจากห้องทดลองระบุว่ามะละกอ มีปริมาณวิตามินซีสูงกว่าสับปะรดมาก ทั้งที่ไม่มีความเปรี้ยวเลย หรือในมะนาวที่มีรสเปรี้ยวจี๊ด ก็ไม่ได้มีวิตามินซีสูงอย่างที่ใคร ๆ เข้าใจ เพราะรสเปรี้ยวที่ได้มาจากกรดซิตริกหรือสารให้ความเปรี้ยวอื่น ๆ ต่างหาก อย่าลืมนะคะ รสเปรี้ยวไม่ได้บ่งบอกถึงปริมาณวิตามินซีเลย

              วิตามินซี เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และซ่อมแซมเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ทั้งยังช่วยต้านการแข็งตัวของหลอดเลือด รวมทั้งออกฤทธิ์ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระได้ด้วย ในแต่ละวันร่างกายคนเราต้องการวิตามินซี 60 มิลลิกรัม ฝรั่งขนาดกลางครึ่งลูกมีวิตามินซีมากกว่า 100 มิลลิกรัม ดังนั้น วิตามินซีจากผลไม้จึงเพียงพอต่อร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องกินวิตามินซีสกัดแต่อย่างใด

    ผลไม้กับสารต้านอนุมูลอิสระ

              มลภาวะในอากาศ ความเครียด และอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free radical) ขึ้นในร่างกาย จนอาจนำไปสู่สาเหตุของโรคร้ายอย่างมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ การรับประทานผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นประจำ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณสดใสแล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง และสารต้านอนุมุลอิสระที่พบในผลไม้ ได้แก่

              โพลีฟีนอล ที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบในโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง ผลไม้ที่เป็นแหล่งโพลีฟีนอล ได้แก่ น้อยหน่าหนัง มะเฟืองไทย ทุเรียนหมอนทอง ลิ้นจี่จักรพรรดิ์ ฝรั่ง และกล้วย

              แอนโทไซยานิน พบมากในผลไม้สีม่วง สีแดง ออกฤทธิ์ป้องกันอัลไซเมอร์ ความดันโลหิตสูง เบาหวานและมะเร็ง ผลไม้ที่มีแอนโทไซยานินสูง ได้แก่ มะเฟือง ละมุด เงาะโรงเรียน และชมพู่ทับทิมจันทร์

              คาเทชิน ช่วยลดความเสี่ยงโรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน พบมากที่สุดในใบชา ส่วนในผลไม้พบได้ในมะเฟือง น้อยหน่า ละมุด และลิ้นจี่จักรพรรดิ์

              แทนนิน สารให้รสฝาด ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคไขข้ออักเสบ พบมากในมะม่วงน้ำดอกไม้ น้อยหน่าหนังและละมุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น