วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
โดย น.สพ.วชิร ตระกูลชัยศรี
                โรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ซึ่งมีหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ ส่วนสุนัข สุกร โค กระบือ แพะ แกะและสัตว์เลี้ยงพบการป่วยเป็นโรคนี้ได้ แต่แมวไม่ค่อยพบการป่วยด้วยโรคนี้ สัตว์ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อทางปัสสาวะ พบการระบาดของโรคนี้สูงในช่วงฤดูฝน หรือช่วงน้ำท่วมขัง
เชื้อสาเหตุ
                เกิดจากเชื้อ Leptospira interrogans ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างเป็นเส้นเกลียว (Spirochete) โดยมีมากกว่า 200 ซีโรวาร์ (serovars) แต่ซีโรวาร์สำคัญที่พบก่อโรคในสัตว์เลี้ยงคือ Grippotyphosa, Pomona, Bratislava, Icterohemorrhagicae และ Canicola
กลไกการเกิดโรค
                เชื้อถูกขับออกมาทางปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อได้นานหลายเดือนถึง 4 ปี ซึ่งมักปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง และตามสิ่งแวดล้อม เชื้อสามารถติดต่อโดยการไชเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ผิวหนัง เยื่อบุของตา จมูก และปาก ในกรณีที่มีการแช่น้ำเป็นเวลานานเชื้อสามารถไชเข้าสู่ผิวหนังได้ถึงแม้ไม่มีบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยหลังจากติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อในกระแสเลือด (Leptospiremic phase) ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะพบเชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะ (Leptospiruric phase) ซึ่งระยะนี้เชื้อจะเข้าไปอยู่ในไต ตับ ม้าม ระบบประสาทส่วนกลาง และที่ตา
อาการป่วยในสัตว์
                หลังจากได้รับเชื้ออาจพบอาการซึมลง เบื่ออาหาร มีไข้ ตาแดง กล้ามเนื้ออักเสบ ตัวเหลือง ในกรณีที่แสดงอาการที่รุนแรงและเฉียบพลันสัตว์ป่วยอาจช็อกแล้วเสียชีวิต ในกรณีที่มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอาจพบภาวะเยื่อบุสมองอักเสบแบบปราศจากเชื้อ และอาจพบภาวะตาบอดจากจอประสาทตาอักเสบได้ แต่โดยส่วนใหญ่สัตว์ที่ติดเชื้อมักไม่ค่อยแสดงอาการป่วยแต่สามารถแพร่เชื้อทางปัสสาวะได้
การตรวจและวินิจฉัยโรค
                ในเบื้องต้นสัตวแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นอาจพบภาวะเม็ดเลือดขาวสูง เกล็ดเลือดต่ำ ความผิดของตับและไต การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจะทำการเอ็กซเรย์ หรืออัลตราซาวนด์ การตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันการติดเชื้อในทางคลินิกนิยมใช้วิธี Polymerase chain reaction (PCR) ซึ่งเป็นการตรวจหา DNA ของเชื้อจากปัสสาวะหรือเลือด
การรักษา
                ในกรณีที่สัตว์ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคฉี่หนูนั้น สัตวแพทย์จะพิจารณาการให้ยาปฏิชีวนะขึ้นกับระยะการป่วยซึ่งต้องให้ยาประมาณ 2-5 สัปดาห์ นอกจากนี้สัตว์แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาตามอาการหรือประคองอาการร่วมด้วย เช่น การให้น้ำเกลือ ยาบำรุงตับ ยาบำรุงไต ยาลดกรด ยาลดการอาเจียน เป็นต้น
การป้องกันและการควบคุม
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูให้กับสุนัข (ในแมวไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้)
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงไปเล่นน้ำท่วมขัง
  • ควบคุมประชากรหนูซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อ
  • กรณีที่มีสัตว์ป่วยเป็นโรคฉี่หนู ควรแยกเลี้ยงสัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ โดยที่เจ้าของสัตว์ไม่ควรสัมผัสกับตัวสัตว์ป่วย ปัสสาวะ อุจจาระ และสิ่งคัดหลั่งโดยตรง ควรใส่ถุงมือยาง และรองเท้าบู๊ต
  • ควรทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย กรง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือความร้อน
คำแนะนำ
                ถ้าสัตว์เลี้ยงที่บ้านของท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคฉี่หนู แนะนำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงความเสี่ยงในการติดโรคฉี่หนู โดยอาการเบื้องต้นที่พบในคนหลังจากได้รับเชื้อ 4-13 วัน อาจมีอาการดั้งนี้  มีไข้ ปวดศรีษะ หนาวสั่น ปวดตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก อาเจียน ตาแดง ตัวเหลือง และอาจมีเลือดออกตามผิวหนัง ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อควรพบแพทย์ตั้งแต่ระยะที่ยังไม่มีอาการป่วย

Veterary Science Mahidol University

Trust Rating
69%
vs.mahidol.ac.th
Close



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น